ทำไมเรา ต้องรู้ทันเทรนด์เทคโนโลยีด้วยนะ ?

ทำไมเรา ต้องรู้ทันเทรนด์เทคโนโลยีด้วยนะ ?

การรู้ทันเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีผลต่อกลยุทธ์ของธุรกิจ และองค์กร ช่วยให้องค์กรมีมุมมองที่ก้าวหน้า และเปิดโอกาสในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่การดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตามเมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2024 จะสังเกตเห็นได้ว่าหลาย ๆ องค์กรเริ่มมีการคาดการณ์เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกันกับ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ได้คาดการณ์ถึงเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่จะมีบทบาทสำคัญในช่วง 3 ปีถัดไป ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไร รวมทั้งธุรกิจของเราจะสามารถนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ติดตามไปพร้อมๆ กัน

10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ในปี 2024 (Strategic Technology Trends 2024) 

แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ Protect investment, Rise of the builders และ Deliver the value มีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่ 1. Protect Investment

1. AI Trust, Risk and Security Management (AI TRiSM) 

ปัจจุบันการเข้าถึง และใช้งานเทคโนโลยี AI กว้างขวางมากขึ้น ทำให้ความเชื่อถือ ความเสี่ยง และการรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยี AI ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยผู้ใช้งานหรือองค์กรจะต้องมีความเชื่อมั่นในระบบ AI ที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย ดังนั้น AI TRiSM จึงเป็นแนวทางเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ซึ่ง Gartner ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 การใช้ AI TRiSM ควบคุมในองค์กรจะเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจสามารถกำจัดข้อมูลที่ผิดพลาด และผิดกฎหมายออกไปได้ถึง 80% ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมาก ช่วยลดอคติในการตัดสินใจ และช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ

2. Continuous Threat Exposure Management (CTEM)

โปรแกรมการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้เน้นที่การแก้ไขปัญหาเพียงครั้งเดียว แต่เป็นแนวทางการจัดการที่ต่อเนื่อง รวมถึงกระบวนการการระบุหรือจัดลำดับความเสี่ยง การตรวจจับความเสี่ยง และการปรับปรุงความปลอดภัยตามลำดับ ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันที ตามที่ Gartner ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 องค์กรต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัย โดยองค์กรที่ใช้ CTEM จะเห็นความเสียหายจากการถูกละเมิดความปลอดภัยลดลงถึง 2 เท่า

3. Industry Cloud Platforms

เป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ และปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นกลยุทธ์การจัดการผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สามารถรวมบริการ SaaS, PaaS และ IaaS ไว้ในระบบฐานข้อมูลเดียวกัน ช่วยให้ธุรกิจสามารถให้บริการที่เฉพาะเจาะจง และตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถรับมือหรือปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดย Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2027 จะมีการใช้แพลตฟอร์มคลาวด์อุตสาหกรรมในองค์กรต่าง ๆ มากกว่า 50%

4. Sustainable Technology

เทคโนโลยีที่ยั่งยืนเป็นกรอบการทำงานของดิจิทัลโซลูชันที่ใช้เพื่อให้เกิดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการบริหารจัดการที่มีความรับผิดชอบทางสังคม และสร้างความคุ้มค่าทางธุรกิจ (ผลลัพธ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ (ESG)) นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืนส่งผลให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างความเชื่อมั่นในผู้บริโภคที่มีค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดีขึ้น ซึ่งกลายเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจับตามองในอนาคต

5. Democratized Generative AI

การทำให้เทคโนโลยี Generative AI ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ทั้งรูปภาพ คำพูด และข้อความ ฯลฯ ให้เป็นทรัพยากรที่สามารถเข้าถึง และใช้งานได้อย่างกว้างขวาง โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนหรือองค์กรสามารถใช้เทคโนโลยี Generative AI และนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และเสริมศักยภาพในการทำงานที่หลากหลาย โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2026  มีแนวโน้มมากกว่า 80% ขององค์กรจะใช้เทคโนโลยี Generative AI เพิ่มขึ้นจากเพียง 5% ในปี 2023 ซึ่งสิ่งนี้แสดงถึงแนวโน้มที่เทคโนโลยี Generative AI จะเป็นที่นิยม และเครื่องมือสำคัญที่จะมีการนำไปใช้ในองค์กรมากขึ้นในอนาคต

กลุ่มที่ 2. Rise of the builders

6. Platform Engineering

กระบวนการพัฒนา และบริหารจัดการแพลตฟอร์ม (Platform) ที่มีความยืดหยุ่นสามารถให้บริการต่าง ๆ โดยเน้นการสร้างและบริหารจัดการ Self-service Platform ภายในองค์กร เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้เร็วขึ้น ลดความซับซ้อน และเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ โดย Gartner ได้คาดการณ์ว่าองค์กรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ 80% จะจัดตั้งทีม Self-service Platform ภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายในปี 2026

7. AI-Augmented Development

การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ใช้ในการออกแบบ เขียนโค้ดหรือสร้างโค้ด และทดสอบระบบ เพื่อช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มีเครื่องมือ และทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างและบริหารจัดการซอฟต์แวร์ รวมถึงช่วยลดเวลาที่ใช้ในการพัฒนา อีกทั้งช่วยให้ทีมนักพัฒนาสามารถตอบสนองต่อความต้องการซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในปี 2027 Gartner คาดการณ์ว่า 70% ของนักพัฒนามืออาชีพจะใช้เครื่องมือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันน้อยกว่า 10%

กลุ่มที่ 3. Deliver the value.

8. Intelligent Applications

แอปพลิเคชันที่มีการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้เชิงลึก และการประมวลผลข้อมูลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้แอปพลิเคชันสามารถเรียนรู้ และปรับปรุงประสิทธิภาพของตนเองในการให้บริการ โดยสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมหรือผู้ใช้ได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานทางธุรกิจ และสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้ภายในปี 2026 Gartner คาดการณ์ว่านักพัฒนาแอปพลิเคชันจะใช้ Intelligent Applications มากขึ้นถึง 90% จากปัจจุบัน 30% ซึ่งแสดงถึงความสำคัญและการยอมรับของ Intelligent Applications ในการพัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

9. Augmented Connected Workforce

เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่าแรงงานคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะ มีอิทธิพลในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจเข้ามาช่วยเสริมสร้างแรงงานในองค์กร ทำให้การทำงานของบุคลากรมีประสิทธิภาพขึ้น และช่วยลดระยะเวลาในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร โดย Gartner คาดการณ์ว่าจนถึงปี 2027 Chief Information Officer (CIO) ประมาณ 25% จะใช้งาน Augmented Connected Workforce ในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีทักษะการทำงานที่ดีขึ้น โดยใช้เวลาน้อยลง

10. Machine Customers

การให้บริการหรือการจัดการกับลูกค้า ด้วยโปรแกรมหรือระบบที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีความสามารถในการเจรจา ซื้อสินค้า และบริการได้โดยอัตโนมัติ เช่น การใช้ Chatbots ในการบริการลูกค้า ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้องค์กรปรับตัว และลดความซับซ้อนของกระบวนการทางธุรกิจ นอกจากนี้สิ่งเหล่านี้มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และการตัดสินใจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแนวโน้มในการเป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าได้ในอนาคต ดังนั้นการนำ Machine Customers เข้ามาในองค์กรอาจช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

แหล่งอ้างอิง

https://www.gartner.com